ระบบโทรศัพท์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันนั้น มีวิวัฒนาการเรื่อยมา นับตั้งแต่เมื่อที่ Alexander Graham Bell เป็นผู้คิดค้นเครื่องโทรศัพท์ที่มีสายไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่าง 2 เครื่อง จวบจนปัจจุบันที่เครื่องโทรศัพท์เป็นแบบไร้สาย และไม่จำเป็นต้องมีเสาอากาศเนื่องจากระบบโทรศัพท์ยุคใหม่เป็นการเชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เน็ตหรือที่เรียกว่า VoIP Phone
อย่างไรก็ตาม ระบบโทรศัพท์ VoIP Phone นั้น จะให้เสียงที่คมชัดหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ใช้ด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้ว พัฒนาการของ VoIP Phone นั้น ขึ้นอยู่กับยุคสมัยของอินเตอร์เน็ตด้วยเช่นกัน เช่น หากสัญญาณอินเตอร์เน็ตแรงและเร็ว การใช้งานของระบบโทรศัพท์ย่อมคมชัดและมีประสิทธิภาพสูงตามไปด้วย
พัฒนาของอินเตอร์เน็ตในแต่ละยุคนั้น มีความเชื่อมโยงกับระบบโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารกันเหมือนเส้นขนาน เรามาดูกันว่า แต่ละยุคสมัยของเทคโนโลยีการสื่อสารนั้น มีความเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหน
- 1G ยุคของโทรศัพท์มือถือแบบอนาล็อก
ถือเป็นยุคแรกๆ ที่มีโทรศัพท์มือถือใช้บนโลกใบนี้ ในยุค 1G นั้น เครื่องโทรศัพท์ยังเป็นแบบปุ่มกดนูนๆ ที่มาพร้อมกับเสาอากาศขนาดใหญ่ ในยุคนั้นเครื่องโทรศัพท์ทำได้เพียงแค่การโทรเข้า-ออก และรับสายหรือที่เรียกว่าเป็นการสื่อสารแบบอนาล็อก โดยหลักการของการสื่อสารแบบอนาล็อกนั้น จะเป็นการส่งสัญญาณแบบ FDMA (Frequency Division Multiple Access) หรือแบ่งช่องความถี่เป็นแบบย่อยๆ หลายช่อง แล้วใช้สัญญาณวิทยุส่งคลื่นเสียงไปยังสถานีรับส่งสัญญาณ หนึ่งคลื่นความถี่จึงเท่ากับหนึ่งช่องสัญญาณ การใช้บริการระบบโทรศัพท์จึงใช้ได้เพียงช่องความถี่ที่ว่างอยู่เท่านั้น ในยุค 1G จึงไม่สามารถรับส่งข้อความใดๆ ได้ และไม่รองรับการใช้งานจำนวนมาก อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการดักฟังโทรศัพท์ได้ง่าย
- 2G พัฒนาการส่งคลื่นเสียงแบบอนาล็อกไปเป็นดิจิทัล
ยุคนี้มีการพัฒนาจากแบบอนาล็อกมาเป็นดิจิทัล ซึ่งอาศัยการเข้ารหัสโดยส่งคลื่นเสียงมาทางคลื่นไมโครเวฟ ทำให้ปลอดภัยในการใช้งาน และช่วยเรื่องสัญญาณเสียงที่คมชัดมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่ผสมผสานระหว่าง FDMA กับ TDMA (Time Division Multiple Access) สามารถรองรับผู้ใช้งานในปริมาณมากขึ้น รวมทั้งส่งข้อความถึงกันได้มากกว่าแค่โทรเข้า-ออก และรับสาย อีกทั้งรูปลักษณ์ของโทรศัพท์ในยุคนี้ได้พัฒนาให้ดูทันสมัย มีน้ำหนักเบา และใช้งานง่ายขึ้น
- 2.5G ยุคที่มีการกำเนิดเทคโนโลยีที่เรียกว่า GPRS
เป็นช่วงที่มีเทคโนโลยี GPRS (General Packet Radio Service) เกิดขึ้น ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้มากกว่าแค่ข้อความ แต่เป็นการส่งภาพหรือข้อความในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นหรือที่เรียกว่า MMS (Multimedia Messaging Service) หน้าจอเริ่มเป็นจอสี เสียงเรียกเข้าเริ่มพัฒนาเป็นแบบ MP3 และเริ่มเล่นอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ด้วยความเร็ว 115 kbps
- 2.75G มีการพัฒนาจาก GPRS เป็น EDGE เพื่อก้าวเข้าสู่ยุค 3G
เป็นยุคของ EDGE (Enhanced Data Rates for Global Evolution) ซึ่งพัฒนาต่อมาจาก GPRS ในยุค 2.75G ผู้คนจึงสามารถเล่นอินเตอร์เน็ตบนมือถือได้ด้วยความเร็วที่มากขึ้นหรือสูงสุดที่ 180 kbps
- 3G มีความสามารถในการเชื่อมต่อเครือข่าย 24 ชั่วโมง (Always on)
ถือเป็นยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เช่น สามารถออนไลน์ผ่านมือถือได้ตลอดเวลา ในขณะที่ยุค 2G จะออนไลน์ได้เฉพาะเมื่อมีการ Log-in เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายเท่านั้น แต่ยุค 3G จะมีการเชื่อมต่อกับเครือข่ายตลอดเวลา แต่จะเสียค่าบริการเมื่อมีการใช้ข้อมูลผ่านเครือข่าย ต่างจากยุคก่อนหน้านี้ที่เมื่อ Log-in เข้าระบบจะเสียค่าบริการทันที โดยในยุคนี้ความเร็วของเครือข่ายจะสูงกว่าแบบเดิม เป็นยุคที่เริ่มมีการโทรผ่านอินเตอร์เน็ตได้ คุยแบบเห็นหน้าได้ ประชุมทางไกล ดูทีวีและวีดิโอออนไลน์ ตลอดจนเล่นเกมออนไลน์ได้
- 4G มีความเร็วในการรับส่งข้อมูลถึง 100 Mpbs
ถือเป็นยุคที่มีการประมวลเอาคุณภาพของการสื่อสารยุค 1G-3G มาพัฒนาในเรื่องความเร็วของการรับส่งข้อมูล โดยจะอยู่ที่ 100 Mbps ทำให้สามารถใช้งานกับโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตได้และสัญญาณไม่มีการกระตุก สามารถดูวีดิโอออนไลน์ได้อย่างคมชัด โทรทางไกลข้ามประเทศผ่านอินเตอร์เน็ตม Video Call และประชุมผ่านโทรศัพท์ได้ง่ายดาย ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งสามารถรองรับระบบโทรศัพท์ VoIP Phone ได้อย่างราบรื่น
- 5G ระบบการสื่อสารไร้สาย รับส่งข้อมูลได้เร็วกว่า 4G ถึง 20 เท่า
สำหรับยุค 5G นั้น ถือเป็นการเข้าสู่การสื่อสารยุคใหม่ของทั่วโลก ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่ประเทศที่เริ่มใช้ 5G ในเชิงพาณิชย์ อาทิ จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และยุโรปบางประเทศ ส่วนในไทยได้ประมูลคลื่นความถี่กันเป็นที่เรียบร้อยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สิ่งที่เปลี่ยนไปเมื่อไทยเปิดใช้เครือข่าย 5G คือ ความเร็วสูงกว่า 4G อย่างมากหรือราวๆ 500 Mbps (หรือขั้นต่ำตั้งแต่ 1Gbps – มากกว่า 10 Gbps) สามารถรองรับเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนด้วยความเร็วสูง อาทิ รถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์อัจฉริยะ ตลอดจนการผลักดันเมืองไปสู่การเป็น Smart City เป็นต้น